ความวาวของวัสดุคืออะไร แบ่งประเภทความวาวได้กี่ประเภท

ความวาวของวัสดุคืออะไร แบ่งประเภทความวาวได้กี่ประเภท

ความวาว เป็นปฏิกิริยาการสะท้อนแสงที่เกิดขึ้นระหว่างแสงและผิวของผลึก ซึ่งสามารถเกิดการสะท้อนได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งจากการสะท้อนแสงแบบภายในและบนพื้นผิวของวัตถุ ด้วยวิธีการหักเห การสะท้อนแสงภายในผลึกและภายนอกผลึก โดยความวาวนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือคำว่า “lux” ที่มีความหมายว่า “ความสว่าง” ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะหมายถึงความวาวและความสว่างไสว

วาวแบบเพชร (Adamantine lustre)

ความวาวชนิดนี้พบมากในกลุ่มของอัญมณี ได้แก่ เพชร ซึ่งเป็นตัวอย่างของแร่ที่มีความวาวมาก มีความโปร่งใสและโปร่งแสง ดัชนีหักเหสูงประมาณ 1.9 หรือมากกว่า และเป็นแร่ที่สามารถสะท้อนแสงออกจากผลึกได้มาก เนื่องจากผลึกเพชรมีความหนาแน่นสูง

วาวแบบด้าน (Dull lustre)

ความวาวชนิดนี้ หมายถึงแร่ที่ไม่มีความวาวเลย เนื่องจากเป็นแร่ที่มีคุณสมบัติและมีลักษณะเป็นตัวสะท้อน จึงเกิดการหักเหแสงออกไปในทุกทิศทางจนไม่เหลือความวาว ได้แก่ แร่เคโอลิไนต์ (Kaolinite) ที่มีลักษณะด้านและหยาบ

วาวแบบน้ำมัน (Greasy lustre)

ความวาวชนิดนี้ ส่วนมากจะพบในแร่ที่มีขนาดเล็ก และอยู่รวมกัน เป็นความวาวที่มีลักษณะคล้ายกับจาระบีหรือไข ได้แก่ แร่คอร์เดียไรต์ (Cordierite) และ แร่โอปอล (Opal) โดยแร่ทั้งสองดังกล่าวนี้จะมีความวาวแบบน้ำมันเมื่อเกิดการขยับ

วาวแบบโลหะ (Metallic lustre)

ความวาวชนิดนี้ มักพบในแร่ที่ผิวที่มีลักษณะคล้ายกับกระจกสะท้อนซึ่งเป็นแร่ในอุดมคติ และแร่ที่ผิวมีลักษณะความเงาวาวคล้ายกับโลหะ ได้แก่ แร่ไพไรต์ (Pyrite) หรือ แร่กาลีนา (Galena) และแร่แมกนีไทต์ (Magnetite)

วาวแบบกึ่งโลหะ (Submetallic lustre)

ความวาวชนิดนี้ หมายถึงแร่ที่บริเวณผิวมีลักษณะความวาวคล้ายกับความวาวแบบโลหะ แต่วาวน้อยกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากในแร่ที่มีค่าดัชนีหักเหสูงและเกือบทึบแสง ได้แก่ แร่คิวไพรต์ (Cuprite) แร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) และ แร่สฟาเลอไรต์(Sphalerite)

วาวแบบไข่มุก (Pearly lustre)

ความวาวชนิดนี้ สามารถมองเห็นความวาวได้เป็นชั้นบางๆ มักพบในแร่ที่มีลักษณะโปร่งใสเล็กน้อย ซึ่งแร่ที่มีความวาวแบบไข่มุกจะมีรอยแตกที่เป็นระบบ (Cleavage) เกิดขึ้นจากการที่แสงนั้นสะท้อนจากชั้นที่มีลักษณะของไข่มุกจนเกิดเป็นรอยแตก ได้แก่ แร่สติลไบต์ (Stilbite) และ แร่กลีบหินขาวหรือแร่มัสโคไวต์ (Muscovite) หรือแร่กลีบหินขาว

วาวแบบยางสน (Resinous lustre)

ความวาวชนิดนี้ พบในแร่ที่ผิวมีลักษณะความวาวคล้ายกับ หมากฝรั่ง พลาสติกด้านเรียบ หรือยางไม้ ได้แก่ แร่แอมเบอร์ (Amber)หรือแร่อำพัน

วาวแบบไยไหม (Silky lustre)

ความวาวชนิดนี้ พบในแร่ที่เส้นใยขนาดเล็กมีการจัดเรียงตัวกัน มีลักษณะคล้ายกับเส้นไหม ได้แก่ แร่ยูลีไซต์ (Ulexite) แร่แอสเบสตอส (Asbestos)หรือแร่ใยหินและ แร่ซาตินสปาร์ (Satin Spar) ซึ่งเป็นแร่ยิปซั่ม (Gypsum)

วาวแบบแก้ว (Vitreous lustre)

ความวาวชนิดนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยมีลักษณะความวาวคล้ายกับแก้ว เป็นความวาวชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการที่แร่ดัชนีหักเหต่ำเกิดการสะท้อนหรือการหักเห ได้แก่ แร่ควอตซ์ (Quartz)แร่ แคลไซต์ (Calcite) แร่ทัวร์มาลีน (Tourmaline) แร่โทพาซ (Topaz) แร่ฟลูออไรต์ (Fluorite) แร่เบริล (Beryl) และแร่อื่นๆ เป็นต้น

วาวแบบขี้ผึ้ง (Waxy lustre)

ความวาวชนิดนี้ มักพบในแร่ที่ผิวมีลักษณะความวาวคล้ายกับขี้ผึ้ง ได้แก่ แร่แคลเซโดนี (Chalcedony) และ แร่เจด (Jade) หรือ แร่หยก

แสงและเงา

ความวาวของวัสดุคืออะไร แบ่งประเภทความวาวได้กี่ประเภท

แสงและเงา (Light & Shade) เกิดจากการที่แสงส่องไปตกกระทบลงบนวัตถุจนเกิดเป็นเงาขึ้น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่อยู่คู่กันเสมอ ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนักแสงและเงา โดยที่ค่าความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่กับค่าความเข้มของแสง คือ เงาจะมีความเข้มมากขึ้นเมื่อเกิดในบริเวณที่มีแสงสว่างมาก มีความเข้มไม่ชัดเจนเมื่อเกิดในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อย และเงาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากในบริเวณนั้นไม่มีแสงสว่าง ซึ่งเมื่อทำการจัดจำแนกค่าน้ำหนักของแสงและเงาที่เกิดบนวัตถุแล้ว สามารถแบ่งแยกออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้

  1. บริเวณแสงสว่างจัด (Hi-light) หมายถึงบริเวณที่มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ใกล้มาก จนทำให้มีค่าความสว่างมากที่สุด ซึ่งสำหรับวัตถุที่ลักษณะผิวมีความมันวาว จะสามารถสะท้อนแหล่งกำเนิดแสงออกมาได้ชัดเจน
  2. บริเวณแสงสว่าง (Light) หมายถึง บริเวณที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแสงออกมามากกว่าบริเวณแสงสว่างจัด จึงทำให้ได้รับแสงสว่างรองลงมา และเริ่มเกิดค่าน้ำหนักอ่อนๆ
  3. บริเวณเงา (Shade) หมายถึงบริเวณที่ถูกบดบัง หรือบริเวณที่ไม่ได้รับแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้ค่าน้ำหนักมีค่าเข้มมากกว่าบริเวณแสงสว่าง
  4. บริเวณเงาเข้มจัด (Hi-Shade) หมายถึงบริเวณที่ถูกบดบังมากและถูกบดบังหลายชั้น หรือเป็นบริเวณที่มีระยะห่างจากแหล่งกำเนิดแสงมากที่สุด ซึ่งค่าน้ำหนักจะมีค่าตั้งแต่ค่าเข้มมากไปจนถึงค่าเข้มสุด
  5. บริเวณเงาตกทอด หมายถึง บริเวณเงาภายนอกวัตถุ หรือบริเวณพื้นหลังที่เงาของวัตถุทอดตัวลงไป ซึ่งค่าน้ำหนักจะมีความเข้มที่ขึ้นอยู่กับระยะและทิศทางของเงารวมทั้ง ความเข้มของเงาบริเวณพื้นหลัง

ประโยชน์และความสำคัญของค่าน้ำหนัก

  1. ทำให้รูปและพื้น รวมทั้งรูปทรงกับที่ว่าง เกิดความแตกต่างระหว่างกัน
  2. ทำให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว
  3. ทำให้รูปร่างและรูปทรง เกิดความรู้สึกที่เป็นมิติ ได้แก่ความเป็น 2 มิติ และความเป็น 3 มิติ
  4. ทำให้ภาพเกิดระยะความใกล้ ไกล รวมทั้งระยะความความตื้น – ลึก
  5. ทำให้ภาพมีความกลมกลืนและประสานกัน

แสงมีบทบาทสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของการเกิดภาพที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งแสงสีขาวที่มนุษย์มองเห็นประกอบไปด้วยสีหลากหลายคลื่นแสงมารวมเข้าด้วยกัน มีกลไกการทำงานคือเมื่อแสงเดินทางไปตกกระทบบนวัตถุใด ๆ วัตถุจะดูดกลืนคลื่นแสงบางสี แล้วสะท้อนคลื่นแสงของสีที่เหลือเข้าสู่ตาของมนุษย์จนเกิดเป็นสีของวัตถุขึ้น โดยที่ความเข้มแสงบริเวณต่าง ๆ บนผิวของวัตถุจะมองเห็นได้ไม่เท่ากัน เพราะความยาวระหว่างแหล่งกำเนิดแสงและผิวของวัตถุในบริเวณต่าง ๆ มีค่าไม่เท่ากัน