ประเภทของ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก ตามการใช้งานจริง

ประเภทของ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก ตามการใช้งานจริง

โดยทั่วไปแล้ว การนำเหล็กไปใช้ในการแปรรูปเป็นเหล็กชนิดอื่น ๆ นั้น มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ  เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก โดยเหล็กทั้ง 3 ชนิดนั้นยังสามารถแบ่งแยกย่อยประเภทลงไปได้อีก แต่บทความนี้จะพูดถึง “เหล็กรูปพรรณ” โดยเฉพาะ

เหล็กรูปพรรณ คืออะไร

เหล็กรูปพรรณ เป็นเหล็กชนิดหนึ่งที่มีการแปรรูปออกมาเป็นเหล็กชนิดอื่น ๆ หรือเป็นวัสดุรูปทรงต่างๆ  เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน ถ้าหากต้องการอธิบายให้เห็นภาพ เหล็กรูปพรรณก็เหมือนกับทองคำ ทองคำตามธรรมชาติจะมีลักษณะเป็นก้อนที่ไม่มีรูปทรง เมื่อต้องการนำมาทำเป็นทองคำแท่ง หรือทำเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ กำไล แหวน ก็จะต้องมีการแปรรูปทองให้ออกมาตามลักษณะนั้น ๆ เหล็กรูปพรรณเองก็เช่นกัน โดยลักษณะของการแปรรูปเหล็กรูปพรรณที่สามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุด มีดังต่อไปนี้

เหล็กแผ่น เหล็กแผ่น มีทั้งแบบแผ่นดำ และแผ่นขาว แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการใช้เหล็กแผ่นดำมากกว่า สำหรับความแตกต่างของเหล็กแผ่นดำและเหล็กแผ่นขาวนั้น อยู่ที่ขนาดของมัน โดยเหล็กแผ่นดำ จะมีขนาดตั้งแต่ 4×8 ฟุต จนถึง 5×20 ฟุต แต่ถ้าหากเป็นเหล็กแผ่นขาว จะมีขนาดเดียวคือขนาด 4×8 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่สุดของเหล็กแผ่นดำ แต่ในส่วนของความหนานั้น มีให้เลือกหลายขนาดไม่ต่างกันเลย เหล็กแผ่นดำจะมีชื่อเรียกอีกมากมาย เช่น เหล็กแผ่น (เรียกแบบโดยตรง) เหล็ก Plate และในปัจจุบันนี้ก็มีเหล็กแผ่นถูกผลิตขึ้นมาอีก 1 แบบ ซึ่งก็คือเหล็กแผ่นแบบลาย ถ้าใครนึกไม่ออกว่าแผ่นเหล็กลายเป็นอย่างไร ให้นึกถึงสะพานลอยที่มีการปูพื้นด้วยเล็กแล้วมีลวดลายที่พื้นเหมือนรูปกากบาท นั่นคือเหล็กแผ่นลายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่ เหล็กแผ่น มักจะนิยมนำไปใช้กับงานโครงสร้างอาคาร งานโครงสร้างรถยนต์ และงานปูพื้นโรงงานอุตสาหกรรม

เหล็กแบน เป็นเหล็กที่มีลักษณะคล้ายกับเหล็กแผ่น แต่แตกต่างกันที่ความหนาและความยาว เหล็กแบนที่นิยมใช้กันมีขนาดอยู่ที่ ยาว 6 เมตร หนา 3 มิลลิเมตร และมีหน้ากว้าว 25 มิลลิเมตร แต่อาจจะสั่งทำให้มีขนาดหนาหรือหน้ากว้างตามที่ต้องการได้ สำหรับเล็กแบน มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก คือ Flat Bars หรือ F/B เหล็กแบนนิยมนำไปใช้กับงานก่อสร้าง นำไปทำงานเชื่อม เช่น งานฝาตะแกรง งานเหล็กดัด งานแหนบรถยนต์ เป็นต้น

เหล็กโครงสร้างรูปตัวซี (Lip Channel) หรือที่เหล่าวิศวกรมักจะเรียกสั้น ๆ ว่าเหล็กตัวซี สาเหตุที่เรียกว่าตัวซี ก็เพราะว่ามีการขึ้นเหล็กรูปพรรณให้เป็นรูปตัวซี (มองจากด้านข้าง) นิยมนำไปใช้กับงานโครงสร้างอาคารใหญ่ ๆ รวมถึงงานสะพาน และงานอาคารสูง คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวิศวกรรมอาจเกิดความสับสนระหว่างเหล็กตัวซี และเหล็กรางน้ำได้ จึงขอนำรูปมาเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนดังต่อไปนี้

ประเภทของ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก ตามการใช้งานจริง

เหล็กตัวซี

ประเภทของ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก ตามการใช้งานจริง

เหล็กรางน้ำ

เหล็กรางน้ำ (CHANNEL) อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีลักษณะคล้ายกับเหล็กตัวซี แต่ถ้าหากพิจารณากันดี ๆ ก็ยังพอจะเห็นความแตกต่างได้อยู่บ้าง การที่เรียกว่าเหล็กรางน้ำ ก็เพราะมีลักษณะคล้ายกับรางน้ำที่ทำขึ้นเพื่อการระบายน้ำออก แต่ไม่ได้แปลว่าจะนำไปใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำเลย เหล็กรางน้ำนิยมนำไปใช้กับงานโครงสร้างใหญ่ ๆ ที่ต้องมีการรับน้ำหนักมาก เช่น งานเสาตอม่อ งานสะพานข้ามแม่น้ำ หรือสะพานข้ามแยก รวมถึงงานหลังคา

เหล็กกล่อง ในทางวิศวกรรมมักจะเรียกว่าเหล็กแป๊บ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือเหล็กแป๊บสี่เหลี่ยม(เหล็กแป๊บ) และเหล็กแป๊บสี่เหลี่ยมแบน (แป๊บแบน) สาเหตุที่เรียกว่าเหล็กกล่อง เพราะถ้ามองจากหน้าตัด หรือมองจากด้านข้าง จะมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ด้านในกลวงและยาวไปตลอดเส้นเหล็ก เหล็กแป๊บเป็นเหล็กที่มีขนาดเบา แต่แข็งแรง นิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างทั่วไปเพื่อแทนการใช้ไม้ หรือการทำงานโครงสร้างที่มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไป เช่น งานนั่งร้าน งานแปหลังคา เป็นต้น

เหล็กฉาก หรือในทางวิศวกรรมเรียกว่า เหล็กตัวแอล เหล็กชนิดนี้เป็นเหล็กที่มีความสำคัญในงานโครงสร้างเหล็กเป็นอย่างยิ่ง นิยมใช้กับงานโครงหลังคา งานโกดัง นอกจากนี้แล้ว ยังมีการขึ้นรูปของเหล็กรูปพรรณเพื่อให้กลายเป็นเหล็กฉากขนาดเล็กที่สามารถนำมาใช้กับโครงสร้างเบาะรถโดยสารรถประจำทางขนาดใหญ่อีกด้วย

ท่อเหล็กดำ และ ท่อเหล็กอาบสังกะสี ทั้งสองชนิดนี้เป็นเหล็กที่มีลักษณะเป็นท่อเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่คุณสมบัติโดยท่อเหล็กดำนั้น จะมีความหนาหลายประเภทให้เลือก ขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้งานที่ความหนาเท่าใด ส่วนท่อเหล็กอาบสังกะสี หรือที่ทางวิศวกรรมเรียกว่า ท่อ GSP จะมีความหนาเพียงอย่างเดียวภายใน 1 ขนาด (ท่อ GSP มีหลายขนาด) ยกตัวอย่างเช่น ท่อเหล็กอาบสังกะสีขนาด 1 นิ้ว มีความหนาอยู่ที่ 2.6 มิลลิเมตร โดยไม่มีความหนาอื่นอีก ในส่วนนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า ท่อ GSP นั้นจะแบ่งเป็นชั้นการเคลือบ 3 ชั้นคือ BS-S (คาดเหลือง), BS-M (คาดน้ำเงิน), BS-H (คาดแดง) ซึ่งความหนาในแต่ละชั้นก็จะต่างกันไป เช่น ท่อขนาด 1 นิ้ว มีความหนาอยู่ที่ 2.6 มิลลิเมตร ขณะที่ท่อแบบ BS-S จะหนา 3.2 มิลลิเมตร และท่อ BS-M หนา 4.0 มิลลิเมตร เป็นต้น ท่อทั้ง 2 ชนิดนิยมนำไปใช้ในงานเดินประปา งานโครงหลังคา และงานนอกสถานที่ เรื่องจากมีความทนทาน ไม่ทำให้เกิดสนิมได้ง่าย และมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้พอสมควร

จะเห็นได้ว่าเหล็กรูปพรรณมีหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป และมีคุณสมบัติต่างกันอีกด้วย โดยจะนำเหล็กแบบไหนมาใช้ประโยชน์ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย