ความแตกต่างระหว่าง อะเสเหล็ก กับ อะเสคอนกรีตเสริมเหล็ก
อะเส คือ ส่วนประกอบของโครงสร้างหลังคาที่วางพาดอยู่บนหัวเสา มีลักษณะคล้าย ๆ คาน ทำหน้าที่ในการยึดกับรัดหัวเสา และรับแรงจากโครงหลังคาถ่ายลงสู่เสา โดยทั่วไปแล้วอะเสมักจะวางตรงบริเวณทางด้านริมนอกของเสา และจะวางเฉพาะด้านที่มีความลาดเอียงของหลังคา ซึ่งอะเสเป็นโครงสร้างที่ทำได้จากหลายวัสดุทั้งคอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กตัวซี หรือไม้ ตามความเหมาะสมของโครงสร้าง แต่โดยส่วนมากแล้วมักจะนิยมใช้อะเสเหล็กหรืออะเสคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งทั้งสองแบบมีข้อดีกับข้อเสียที่แตกต่างกันไป ในการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับสถาปนิกและวิศวกรว่าอะเสแบบไหนเหมาะสมกับรูปแบบและโครงสร้างบ้าน
อะเสเหล็ก ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับอะเส ค.ส.ล และสามารถทำการติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มาก ซึ่งการติดตั้งอะเสเหล็กบนเสาคอนกรีตเสริมเหล็กโดยทั่วไป ช่างจะนำเพลทเหล็กมาเชื่อมกับเหล็กเสริมบนหัวเสา เพื่อทำการเชื่อมกับอะเสเหล็กอีกที และเมื่อเชื่อมอะเสเหล็กเพื่อรัดหัวเสาแล้ว ก็สามารถทำการเชื่อมจันทันกับอะเสเหล็กได้เลย หรือหากเป็นโครงหลังคากัลวาไนซ์สามารถทำการติดตั้งโดยใช้สกรูยึดกับอุปกรณ์มาตรฐานเข้ากับอะเสเหล็ก แต่อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในบริเวณที่มีลมพัดค่อนข้างแรง โครงหลังคาที่ใช้อะเสเหล็กอาจจะเกิดการสั่นไหว ฉะนั้นจึงควรผ่านการออกแบบและคำนวณโดยวิศวกร มีการควบคุมการก่อสร้างหน้างานอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมเหล็กในแต่ละขั้นตอนและทาสีกันสนิมอย่างพิถีพิถัน และจะต้องทำการควบคุมคุณภาพของเหล็กที่ใช้อย่างเคร่งครัด
อะเสคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยส่วนใหญ่แล้ว ช่างจะมีความคุ้นเคยในการใช้อะเสคอนกรีตเสริมเหล็กมากกว่า เพราะมีความถนัดในงานคอนกรีต แม้ขั้นตอนการก่อสร้างจะช้าและใช้เวลาที่นานกว่าการใช้อะเสเหล็ก เนื่องจากงานคอนกรีตซึ่งจะต้องมีการหล่อแบบและรอคอนกรีตเซตตัว แต่อะเสคอนกรีตเสริมเหล็กก็มีความแข็งแรงทนทานที่มากกว่า โดยการยึดจันทันเหล็กเข้ากับอะเสคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การวางเพลทเหล็กเตรียมไว้บนอะเสคอนกรีตแล้วทำการรเชื่อมกับเหล็กตัวซีเพื่อยึดกับจันทันเหล็ก ซึ่งจะมีความแข็งแรงแต่มีค่าใช้จ่ายสูง และการเสียบเหล็กหนวดกุ้งตามระยะไว้ที่อะเสคอนกรีตเพื่อเชื่อมกับจันทัน ส่วนโครงหลังคากัลวาไนซ์จะทำการติดตั้งโดยนำพุกยึดที่กลางคานร่วมกับอุปกรณ์ตามมาตรฐานการติดตั้ง
การเลือกใช้อะเส หากผ่านการคำนวณการรับน้ำหนักโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเลือกใช้อะเสเหล็กหรืออะเสคอนกรีตเสริมเหล็ก ก็แทบไม่ต่างกันทั้งในเรื่องของความแข็งแรงและการรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคา
โครงสร้างหลักรับน้ำหนักตัวบ้าน
เสากับคาน คือ โครงสร้างหลักที่มีความสำคัญเสมือนโครงกระดูกของบ้าน หมายถึงความแข็งแรงมั่นคงของบ้านทั้งหลัง ซึ่งการสร้างบ้านนให้ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง จึงจะต้องทำการพิจารณาเสากับคาน ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบจนถึงกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งโครงสร้างเสาและคานที่นิยมใช้กันก็มี โครงสร้างไม้ โครงสร้างเหล็กกับโครงสร้างคอนกรีต
1. โครงสร้างไม้
ด้วยไม้โครงสร้างจะต้องเป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่มีคุณภาพดี ซึ่งหาได้ยาก มีราคาสูง และต้องอาศัยการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้ความนิยมลดลงเรื่อย ๆ
2. โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (โครงสร้าง ค.ส.ล.)
คอนกรีตมีส่วนประกอบหลักคือ ปูนซีเมนต์ หิน กรวดหรือทราย และน้ำ ซึ่งสามารถรับแรงอัดได้ดี แต่ว่ารับแรงดึงได้ค่อนข้างต่ำมาก และเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการรับแรงดึง เมื่อนำมาทำเป็นโครงสร้างบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเสริมเหล็ก ซึ่งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นที่นิยมมาก เพราะมีความแข็งแรงมั่นคง สามารถหล่อขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ สถาปนิกกับวิศวกรส่วนใหญ่มีความชำนาญในการออกแบบ และช่างก่อสร้างส่วนมากมีความชำนาญในงานคอนกรีต ทำให้ราคาของกับค่าแรงไม่แพง แต่ทั้งนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างพอสมควร เพราะต้องรอคอนกรีตเซ็ทตัวเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
3. โครงสร้างเหล็ก
เหล็กที่นำมาทำเป็นโครงสร้างบ้านคือ เหล็กรูปพรรณ ซึ่งเมื่อก่อนจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ราคาสูง แต่เดี๋ยวนี้ประเทศไทยสามารถที่จะผลิตเหล็กรูปพรรณได้เอง ส่งผลให้อาคารสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กมากขึ้น ซึ่งเหล็กรูปพรรณจะถูกผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมมาตรฐานในการผลิต สามารถที่จะสั่งผลิตเตรียมชิ้นส่วนมาจากโรงงาน เมื่อมาถึงหน้างานก็สามารถเชื่อมประกอบได้ทันที ทำให้ใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กค่อนข้างมาก จึงช่วยลดต้นทุนเรื่องเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และการออกแบบโครงสร้างที่รับน้ำหนักอาคารที่เท่ากัน โครงสร้างเหล็กมีขนาดที่เล็กและบางกว่าโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมเบากว่า ทำให้ระบบฐานรากของอาคารมีขนาดเล็กและประหยัดกว่า
ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในการก่อสร้างอาคารยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก เพราะคุณสมบัติของวัสดุที่ไม่สามารถทนไฟกับการกัดกร่อน ทำให้ต้องมีการป้องกันด้วยการห่อหุ้มด้วยวัสดุทนไฟ ทาสีกันสนิม และคอยดูแลรักษาตรวจสอบโครงสร้างเหล็กโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ ส่งผลให้ราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเล็กน้อย และสาเหตุอีกอย่างที่ทำให้โครงสร้างเหล็กไม่ได้รับความนิยมก็เพราะ แรงงานที่มีความชำนาญในการก่อสร้างยังมีไม่เยอะ ส่งผลให้ค่าแรงแพงขึ้น