มาตรฐานของความปลอดภัย ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ของประเทศไทย

มาตรฐานของความปลอดภัย ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ของประเทศไทย

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มในการขยายตัวและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการจัดตั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาล ที่มีการดำเนินการเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 อีกทั้งยังมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในประเทศ ที่ได้พัฒนาจากเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมให้เป็นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมสามารถขยายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านการใช้ประโยชน์จากแรงงานมนุษย์ ซึ่งสามารถเห็นได้จากการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นในหลายๆจังหวัดของประเทศไทย ทำให้เกิดกำไรและผลผลิตแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสามารถสร้างความก้าวหน้าให้แก่เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศชาติได้

จากการที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทย มีการดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับงานในโรงงานอุตสาหกรรม งานสร้างเหมืองแร่ หรืออาจจะเป็นสถานประกอบการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรโดยตรง ทำให้สภาพแวดล้อมของการทำงานมีลักษณะค่อนข้างอันตราย รวมทั้งมีสภาวะการทำงานที่สามารถนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บ ความเจ็บป่วยและอาจนำไปสู่การเกิดโรคจากกระบวนการทำงานได้ ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะแตกต่างกันไปจากความประมาท การละเลยในการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจากการดำเนินงานผิดพลาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น การทำงานที่สัมผัสกับอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด การสัมผัสก๊าซพิษสารพิษ หรือ รังสี การลื่นล้ม การสัมผัสกับกระแสไฟฟ้า การถูกชน การถูกวัตถุ หนีบ ทับ หรือกระเด็นเข้าตา และการที่วัตถุตกจากลงมาจากที่สูงหรือบริเวณพื้นต่างระดับ เป็นต้น โดยเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าวนี้ เป็นอุบัติเหตุที่ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้ที่มีประสบการณ์น้อยในการทำงานด้านอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประสบการณ์จากการทำงานมานานได้เช่นเดียวกัน

หมวด 1 มาตรฐานด้านความร้อน

  1. ความร้อนภายในสถานที่ประกอบการไม่ควรมีสภาพอุณหภูมิที่สูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  2. นายจ้างควรพิจารณาให้มีการจัดเตรียมเครื่องมือสำหรับป้องกันความร้อนให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งควรจัดหามาตรการที่จะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  3. ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส นายจ้างต้องทำการจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักชั่วคราว เพื่อรักษาตัวให้สภาพร่างกายรวมทั้งอุณหภูมิภายในร่างกายกลับมาคงที่สู่สภาพปกติ
  4. นายจ้างควรปิดป้ายประกาศสำหรับแจ้งเตือนในจุดที่เป็นอันตรายแก่ลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น จุดที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ที่มีสภาพอุณหภูมิความร้อนสูงจนสามารถส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของบุคคล
  5. นายจ้างควรจัดตั้งมาตรการการทำงาน ในกรณีที่ลูกจ้างมีความจำเป็นต้องทำงานในบริเวณใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส ให้มีการสวมเครื่องแต่งกายที่รัดกุม สวมถุงมือและรองเท้าตลอดเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างความปลอดภัย และเพื่อป้องกันความร้อนที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของลูกจ้างได้

หมวด 2 มาตรฐานด้านแสงสว่าง

  1. สำหรับงานที่ไม่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การบด การขนย้าย หรือการบรรจุ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
  2. พื้นที่ที่ใช้สำหรับเก็บวัสดุ ตัวอย่างเช่น ห้องเก็บวัสดุ โกดัง รวมทั้งบริเวณเฉลียงและบันไดภายในสถานที่ประกอบการ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
  3. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดเล็กน้อยในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การสีข้าว หรือการผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อย่างง่าย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 100 Lux
  4. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดปานกลางในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การประกอบชิ้นส่วนภาชนะ การเย็บผ้าหรือการเย็บหนัง ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 200 Lux
  5. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การทดสอบและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การซ่อมแซมเครื่องจักร หรือการกลึงแต่งโลหะ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 300 Lux
  6. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงมากเป็นพิเศษในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การเย็บผ้าสีมืดทึบ การประกอบชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือการเจียระไนเพชร พลอย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 1000 Lux
  7. พื้นที่บริเวณ ทางเดินภายนอกสถานที่ประกอบการ รวมทั้งบริเวณถนน ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 20 Lux

หมวด 3 มาตรฐานด้านเสียง

การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านเสียงโดยพิจารณาจากระยะเวลาในการทำงาน ดังต่อไปนี้

  1. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 91เดซิเบล
  2. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงาน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 90 เดซิเบล
  3. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 80 เดซิเบล
  4. ภายในสถานที่ประกอบการ ระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับจะต้องมีค่าไม่เกิน 140 เดซิเบล

หมวด 4 มาตรฐานด้านสารเคมีและอนุภาค

  1. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ ต้องมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศโดยเฉลี่ยไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  2. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ โดยไม่ว่าจะเป็นในระยะเวลาใดของการทำงาน จะต้องมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  3. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ จะต้องไม่อยู่ในบริเวณที่มีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  4. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ จะต้องมีปริมาณของฝุ่นและแร่ในบรรยากาศโดยเฉลี่ยเกินไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้

มาตรฐานของความปลอดภัย ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ของประเทศไทย

เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย

การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในสถานที่ประกอบการ เป็นมาตรการที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งยังสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่รุนแรงให้เบาลงได้ โดยในปกติการป้องกันจะเริ่มต้นควบคุมจากสภาวะแวดล้อมภายในสถานที่ประกอบการก่อน

  • หมวกป้องกันศีรษะ ทำมาจากวัสดุที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน มีคุณสมบัติแข็งแรงและสามารถป้องกันแรงกระแทกได้ ใช้สำหรับการปฏิบัติงานในงานโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท เพื่อป้องกันศีรษะจากการถูกชน กระทบหรือกระแทกโดยวัตถุที่ตกมาจากที่สูง
  • อุปกรณ์ป้องกันหู มีคุณสมบัติในการป้องกันหูจากเสียง ที่มีค่าความดังเกินกว่ามาตรฐานที่หูมนุษย์สามารถรับได้ ใช้สำหรับการทำงานกับเครื่องจักรกล ตัวอย่างเช่นเครื่องเจาะปูน เครื่องจักรกลอัตโนมัติ เครื่องถลุงเหล็ก และเครื่องปาดคอนกรีตที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งใช้สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่ควรระมัดระวังเรื่องเสียงเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง
  • แว่นนิรภัย วัสดุที่ใช้ทำขึ้นจากกระจกนิรภัยหรือพลาสติก มีคุณสมบัติในการป้องกันสารเคมีและวัสดุแปลกปลอมกระเด็นเข้าดวงตาในขณะที่กำลังปฏิบัติงาน ซึ่งอาจส่งผลเสียแก่ดวงตาอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ แว่นตานิรภัยจึงได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ งานอุตสาหกรรมงานเครื่องมือ เครื่องจักรกล งานไม้ งานเชื่อมไฟฟ้า หรืองานเชื่อมแก็ส เป็นต้น
  • ชุดป้องกันสารเคมี มีคุณสมบัติในการป้องกันร่างกายส่วนต่างๆของผู้ปฏิบัติงานจากความเป็นกรด สำหรับในกรณีที่ต้องดำเนินงานในพื้นที่ที่มีค่าความเป็นกรดสูง โดยการสวมใส่ชุดป้องกันสารเคมีดังกล่าวได้ถูกแบ่งระดับความรุนแรงของสารเคมีไว้ตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดจากสำนักบริหารการป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ระดับความรุนแรงตั้งแต่ขั้น A B C และ D
  • หน้ากากกรองฝุ่นละออง มีคุณสมบัติในการป้องกันลมหายใจของผู้ปฏิบัติงานจากฝุ่นละอองที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพได้ โดยหน้ากากกรองฝุ่นละอองมีคุณภาพต่างกันไปตามชนิดของไส้กรอง ผู้ปฏิบัติงานสามารถเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับงานได้หลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ใช้สำหรับการกรอง ควัน ฝุ่น ฟูมโลหะ หรือการกรองก๊าซไอระเหยที่แขวนในอากาศ เป็นต้น
  • ถุงมือนิรภัย ทำขึ้นมาจากวัสดุหนังต่างๆ ได้แก่ หนังวัว หนังกวาง หนังหมู และหนังแพะ มีคุณสมบัติในการป้องกันผิวหนังบริเวณมือขณะปฏิบัติงานจากการบาดคม ความร้อน การเสียดสี ความสกปรก และการกระแทกสะเก็ดไฟ โดยถุงมือนิรภัยมีให้เลือกใช้ได้หลายประเภทแตกต่างกันไปตามรูปแบบของการทำงาน ตัวอย่างเช่น ถุงมือป้องกันงานเย็น ถุงมือป้องกันงานเชื่อม ถุงมือป้องกันงานเลื่อยด้วยมือ ถุงมือป้องกันงานเครื่องจักร และถุงมือป้องกันทั่วไป เป็นต้น
  • รองเท้านิรภัย วัสดุที่ใช้ประกอบด้วยโครงเหล็ก มีคุณสมบัติในป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า ป้องกันเท้าจากแรงบีบอัดและแรงกระแทกจากวัตถุที่อาจตกลงมากระแทกได้ในระหว่างปฏิบัติงาน อีกทั้งพื้นรองเท้านิรภัยยังทำขึ้นจากวัสดุที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกรดและน้ำมัน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้
  • หน้ากากเชื่อม มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงานจากควัน และแสงที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมไฟฟ้า ได้แก่ การเชื่อมไฟฟ้าแบบปรับแสงได้ และการเชื่อมไฟฟ้าแบบธรรมดา
  • กระบังหน้า มีคุณสมบัติในการป้องกันใบหน้าในขณะปฏิบัติงาน จากเศษโลหะและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ
  • เข็มขัดนิรภัย ทำขึ้นจากวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายและช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานสำหรับการทำงานในบริเวณที่มีความสูง โดยจะต้องทำการติดตั้งและเกี่ยวยึดสายรัดลำตัวเข้ากับสายช่วยชีวิตเพื่อช่วยในการเฉลี่ยแรงกระชากที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

หลักการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

  1. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวกและสวมใส่สบาย
  3. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้งานได้
  4. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายและมีราคาย่อมเยา
  5. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีวิธีการใช้ไม่ซับซ้อนเกินไป จนอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากและความผิดพลาด
  6. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สีสามารถมองเห็นได้ง่าย และดูสะอาดตา

ประโยชน์ในการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลในโรงงาน

  1. เป็นประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน
  2. เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิต
  3. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานระหว่างการทำงาน
  4. เป็นประโยชน์ในการช่วยลดระยะเวลาที่ใช้สำหรับผลิตสินค้า
  5. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยระหว่างการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน
  6. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณผลผลิต

ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย

  1. ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ถ้าหากผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในความปลอดภัยระหว่างการทำงาน ด้วยการใช้อุปกรณ์และสถานที่ที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถลดความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่ปลอดภัยลงได้ ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้มากยิ่งขึ้น
  2. ต้นทุนการผลิตลดลง ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการทำงานสูง นอกจากจะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียในการผลิตลงได้แล้ว ผู้ประกอบการยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนให้กับค่าใช้จ่ายสำหรับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมที่ใช้สำหรับการผลิตลดลง
  3. กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อการดำเนินงานสามารถดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและการลดลงของต้นทุนโดยรวม ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสสร้างกำไรได้มากยิ่งขึ้นในตลาด
  4. เป็นปัจจัยจูงใจ ถ้าหากระหว่างการดำเนินงาน ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ด้วยความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครื่องมือ จะส่งผลให้บุคคลเกิดความพร้อมในการทำงาน รวมทั้งมีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
  5. การรักษาทรัพยากรบุคคล การเกิดอุบัติเหตุและความผิดพลาดระหว่างการปฏิบัติงาน ที่อาจนำมาซึ่ง

ความสูญเสียทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ทรัพยากรโดยรวมของชาติสูญเสียไปด้วย การสร้างความปลอดภัยในการทำงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมโดยรวม

ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย นอกจากจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และลดต้นทุนการผลิตลงให้กับผู้ประกอบการได้แล้ว การปฏิบัติงานโดยการใช้อุปกรณ์และสถานที่ที่มีความปลอดภัย ยังเป็นปัจจัยจูงใจที่สามารถสร้างความมั่นใจในการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถรักษาทรัพยากรมนุษย์โดยรวมได้เช่นกัน