รู้จักประเภทของอะไหล่รถยนต์ และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่เปลี่ยนบ่อยที่สุด

รู้จักประเภทของอะไหล่รถยนต์ และชิ้นส่วนของรถยนต์ที่เปลี่ยนบ่อยที่สุด

ในกระบวนการผลิตรถยนต์นั้น ชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ของบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆ จะได้มาจากการผลิตของบริษัทอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตส่วนประกอบโดยตรง ตัวอย่างเช่น ผ้าดิสเบรก ที่บริษัทรถยนต์ในญี่ปุ่นส่วนมากมักใช้ยี่ห้อ AKEBONO ส่วนรถยนต์ในแถบยุโรปส่วนมากจะเป็นยี่ห้อ ATE’ โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ ส่งให้แก่บริษัทผลิตรถยนต์โดยตรงแล้วยังได้ทำการผลิตสินค้าในแบรนด์ของตนเองอีกด้วย ซึ่งอะไหล่สามารถแบ่งแยกประเภทได้ดังนี้

1. อะไหล่แท้

คืออะไหล่ที่มาจากบริษัทรถยนต์นั้นๆ โดยตรง ทำให้มีราคาสูง ซึ่งจะมีคุณสมบัติและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน

2. อะไหล่เทียบ

คืออะไหล่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในรถยนต์ที่ผลิตขึ้นจากต่างบริษัทหรือต่างยี่ห้อได้ ตัวอย่างเช่น รถญี่ปุ่นและรถเกาหลีมีปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์หัวฉีดที่มีขนาดเท่ากัน รวมถึงลักษณะคล้ายกันจึงใช้ทดแทนกันได้ มากกว่านั้นการเลือกอะไหล่เทียบมาใช้แทนอะไหล่แท้ก็เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่เท่าๆ กัน

3. อะไหล่เทียม

คืออะไหล่ที่เป็นยี่ห้อของโรงงานผลิตอะไหล่ ถูกผลิตมากจากโรงงานและส่งขายโดยตรงไม่ผ่านบริษัทรถยนต์ ซึ่งบางโรงงานที่ทำการผลิตก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอะไหล่ส่งให้แก่บริษัทรถยนต์ จึงทำให้ระดับคุณภาพมีตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับสูง รวมทั้งสามารถมีคุณภาพและราคาเทียบเท่าหรืออาจจะสูงกว่าอะไหล่แท้ได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าอัพเกรดต่างๆ ได้แก่ คอยล์สปริง ช็อคอับ และผ้าเบรก เป็นต้น สำหรับบริษัทอะไหล่เทียมที่มีข้อจำกัดเรื่องราคาและเทคโนโลยีการผลิต จะทำให้อะไหล่มีคุณภาพจะด้อยกว่าอะไหล่แท้และทำให้มีราคาอยู่ในระดับต่ำด้วย

4. อะไหล่ปลอม

คืออะไหล่ที่ลอกเลียนเลียบแบบอะไหล่แท้และอะไหล่เทียบโดยใช้วิธีการปลอมสินค้า ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานที่ขาดความสามารถในการทำการผลิตแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ส่วนมากบริษัทเหล่านี้จะทำการปลอมอะไหล่ยี่ห้อที่ได้รับการยอมรับของบริษัทชื่อดังต่างๆ และยี่ห้อขายได้ดีในตลาด ตัวอย่างเช่น ผ้าดิสเบรก AKEBONO ไส้กรองต่างๆ และกลุ่มลูกหมากช่วงล่างรถญี่ปุ่น เป็นต้น

10 ชิ้นส่วนในรถยนต์ที่ต้องเปลี่ยนบ่อยที่สุด

1. น้ำมันเครื่อง และไส้กรองน้ำมันเครื่อง

ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์คือการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ซึ่งต้องใช้น้ำมันเครื่องเป็นหลัก จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ควรให้ความสำคัญในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนด โดยมีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยน ทุกๆ 5,000 – 10,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับประเภทน้ำมันเครื่อง ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนก่อนกำหนดได้ในกรณีที่น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพจนเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท

2. ผ้าเบรค

ชิ้นส่วนในรถยนต์ที่จำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ คือผ้าเบรก มีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยนประมาณ 50,000 – 70,000 กิโลเมตร ซึ่งรถยนต์ที่ใช้งานในเมืองผ้าเบรกจะมีอายุการใช้งานน้อยกว่า สัญญาณเตือนผ้าเบรคที่เสื่อมสภาพแล้วควรได้รับการเปลี่ยน คือเสียงดังเอี๊ยดขณะเหยียบเบรค หากเกิดกรณีดังกล่าวแล้วผู้ใช้งานยังไม่เปลี่ยน จะเกิดความเสียหายขึ้นกับจานเบรคที่มีราคาสูงกว่าผ้าเบรคหลายเท่า

3. แบตเตอรี่

แบตเตอรี่สามารถแยกประเภทได้เป็นแบบแห้งและแบบเปียก มีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันคือ แบตเตอรี่แบบเปียกจำเป็นต้องเติมน้ำกลั่นให้มีระดับคงที่เพื่อแบตเตอรี่จะสามารถเก็บประจุไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรตรวจดูน้ำกลั่นเดือนละ 1 ครั้ง แต่สำหรับแบตเตอรี่แบบแห้งนั้นไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาใดๆ โดยแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์มีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับการใช้งาน หรือ ประมาณ 2-3 ปี

4. ไส้กรองอากาศ

ไส้กรองอากาศนั้นมีหน้าที่สำคัญสำหรับรถยนต์ในการกรองสิ่งสกปรกในอากาศก่อนที่จะเข้าไปถึงเครื่องยนต์ มีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยน ประมาณ 20,000 กิโลเมตร หรือ 1 ปี และควรทำความสะอาดไส้กรองทุกๆ 3,000-5,000 กิโลเมตร โดยหากเครื่องยนต์มีสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันจะส่งผลให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เครื่องยนต์มีกำลังที่ลดลง จึงจำเป็นต้องใช้อากาศที่สะอาดไม่มีสิ่งสกปรกเจือปนในการเผาไหม้เพื่อให้ได้เครื่องยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. น้ำมันเกียร์และไส้กรองน้ำมันเกียร์

น้ำมันเกียร์ ทำหน้าที่สำหรับการลดการสึกหรอของระบบเกียร์และช่วยในการยืดอายุการใช้งานของระบบเกียร์ ไม่ให้ระบบเกียร์เสื่อมสภาพก่อนระยะเวลาอันควร มีระยะเวลาสำหรับการเปลี่ยนประมาณ 20,000 – 40,000 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับรถแต่ละรุ่น ซึ่งเกียร์นั้นประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนโลหะเป็นจำนวนมาก จึงสามารถเกิดการสึกหรอได้จากการเคลื่อนที่ของเกียร์ภายในห้องเกียร์ตลอดเวลา โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับเกียร์ทุกประเภท เช่น เกียร์แบบ CVT แบบอัตโนมัติ แบบทั่วไป หรือแบบ Dual-clutch ที่หากใช้ไปนานๆ จะเกิดเศษโลหะในน้ำมันเกียร์ ส่งผลกระทบต่อระบบเกียร์ ส่วนน้ำมันเกียร์ Long-life ถึงแม้ว่าจะถูกระบุว่าสามารถใช้ได้ตลอดอายุการใช้งาน แต่ก็ควรเปลี่ยนตามสภาพและในระยะเวลาที่เหมาะสม

6. ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง

ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงทำหน้าที่ดักจับสิ่งสกปรกต่างๆ รวมทั้งดักจับน้ำที่ได้จากการเติมน้ำมัน มีระยะเวลาการเปลี่ยนประมาณ 2 ปีหรือ 40,000 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับรุ่นรถ สามารถพบได้ทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ซึ่งหากไส้กรองถูกใช้งานเป็นระยะเวลานานจะเกิดการอุดตัน ส่งผลแรงดันน้ำมันไม่เพียงพอจนเกิดการกระตุก สตาร์ทยาก และเร่งไม่ขึ้นของเครื่องยนต์

7. หลอดไฟต่างๆ

หลอดไฟรอบตัวรถควรหมั่นตรวจสอบและได้รับการตรวจเช็คสม่ำเสมอว่าติดครบทุกดวงหรือไม่ ทั้ง ไฟเลี้ยวทั้ง 4 มุม ไฟหน้าด้านข้าง ไฟท้าย ไฟเบรค ไฟถอย รวมถึง ไฟตัดหมอก โดยมีสาเหตุที่ทำให้หลอดขาดได้ เกิดทั้งจากการเสื่อมสภาพ รวมถึงการขับรถบนทางขรุขระบ่อยๆ ซึ่งการเลือกใช้หลอดไส้ แบบXenon และ LED นั้นมีโอกาสขาดได้ยากกว่าแบบฮาโลเจน

8. สายพานไทม์มิ่ง

สายพานจำนวนมากที่พบในเครื่องยนต์ ช่วยในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ มีระยะเวลาการเปลี่ยน ประมาณ 100,000 กิโลเมตร ตัวอย่างเช่น สายพานคอมแอร์ สายพานไทม์มิ่ง สายพานปั๊มน้ำ หรือ สายพานเพาเวอร์ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเครื่องยนต์อย่างรุนแรง หากสายพานหลักของเครื่องยนต์เสียหายหรือเสื่อมสภาพ

9. หัวเทียน

สมรรถนะของเครื่องยนต์ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของหัวเทียน ที่หากมีระยะเวลาการใช้งานที่นานอาจส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มที่ เกิดการสะดุด จึงมีระยะเวลาการเปลี่ยนประมาณ 40,000 กิโลเมตร ซึ่งหัวเทียนแบบปกตินั้นสามารถหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่สูง

10. ใบปัดน้ำฝน

ใบปัดน้ำฝนสำหรับเมืองไทยที่มีอากาศร้อนอบอ้าวนั้น อาจส่งผลให้มีระยะเวลาการใช้งานที่สั้นและเสื่อมสภาพเร็ว จึงควรเปลี่ยนถ้าหากใบปัดไม่สามารถรีดน้ำออกได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะปัญหาดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถยนต์ในฤดูฝนได้ ซึ่งโดยปกแล้วใบปัดน้ำฝนมีระยะเวลาการเปลี่ยนประมาณ 1 ปี

บริการที่เกี่ยวข้อง

รับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

รับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รับผลิตงานตามแบบ ผลิตอะไหล่รถยนต์จำนวนมาก ขึ้นรูปตามคำสั่ง โลหะปั๊ม เหล็ก อะลูมิเนียม... รายละเอียด